วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Common, Caviar Craving! Part 1(From food of life Vol.14 Star&Celebrities)


หากเปรียบโต๊ะอาหารประหนึ่งโลกเซลลูลอยด์แล้ว “คาเวียร์” ก็คงไม่ต่างอะไรกับดาวดวงเด่นที่ประดับอยู่บนโลกแห่งแสงสี ประดุจอัญมณีสีดำที่ควรค่าแก่การเป็นเพชรบนยอดมงกุฏ ค่าที่เป็นเมนูล้ำค่า ประหนึ่งสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งหรูหรา ผสานกับการตกแต่งที่งดงามอมตะ บ่งบอกถึงรสนิยมอันแสนพิลาสพิไลและหรูระยับ

หากจะถามว่าเพราะเหตุใดคาเวียร์จึงเป็นอาหารเลิศหรู? ทั้งหมดนั้นคงต้องยกคุณงามความดีให้กับชาวรัสเซีย ผู้สรรค์สร้างให้คาเวียร์เป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราและร่ำรวย นาทีนี้ขอให้ลืมความเป็นคอมมิวนิสต์-สงครามเย็น-ภาพลักษณ์ความยากจนทั้งหลายทั้งปวงของชาตินี้ (ที่เคยมี) เพราะช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ราชวงศ์รัสเซียได้รับการยกย่องว่าเป็นราชสำนักที่ร่ำรวยหรูหราไม่แพ้ชาติใดในโลก “คาเวียร์” จึงถือเป็นอาหารที่ถูกเสิร์ฟบ่อยครั้งยามมีการเลี้ยงอาหารสุดสัปดาห์ งานแต่งงาน และงานเทศกาลอื่นๆ

ตามธรรมเนียมการเสิร์ฟคาร์เวียแบบเก่าก่อน มักเสิร์ฟคาเวียร์มาในสแตนด์น้ำแข็ง รับประทานด้วยช้อนมุก (Mother-of–Pearl Spoons) ดื่มกินพร้อมกับวอดก้าเย็นเชี้ยบ หากอยากเห็นภาพวิธีการรับประทานให้ย้อนกลับไปดูภาพยนตร์เรื่อง “The Curious Case of Benjamin Button” ที่ดัดแปลงจากนิยายของเอฟ สก๊อต ฟิทซ์เจอราลด์ ฉากที่ Abbott ชู้รักของ Button กำลังปันคาเวียร์และวอดก้า ภายในบรรยากาศเงียบๆ ในร้านอาหารยามค่ำคืนขณะที่เรือเดินสมุทรกำลังแล่นอยู่ในอาณาเขตรัสเซีย ฉะนั้น จึงมีคำกล่าวว่า ตามปกติพ่อครัวชื่อดังปรุงอาหารย่อมช่วยเพิ่มมูลค่าอาหารเป็นเท่าตัว เว้นแต่คาเวียร์ที่ยิ่งปรุงเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้คาเวียร์ด้อยค่า เนื่องเพราะคาเวียร์จะมีค่ามากที่สุดก็ต่อเมื่อเป็นคาเวียร์ล้วนๆ เท่านั้น

Where is caviar from?
ตามปกติแล้ว เจ้าไข่ปลาที่เรียกว่า “คาเวียร์” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำนั้นจะต้องเป็นไข่ปลาสเตอร์เจียน (ยกเว้นบางประเทศ) จากข้อมูลที่มีอยู่ ณ ขณะนี้ ทั่วโลกมีปลาสเตอร์เจียนอยู่ 25 สายพันธุ์ ในจำนวน 25 สายพันธุ์ มีอยู่ 5 สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบแคสเปี้ยน (ทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในทวีปเอเชีย อาณาเขตครอบคลุมรัสเซีย อิหร่าน และเตอกิสสถาน) แล้วในจำนวน 5 สายพันธุ์นี้ มีเพียง 3 สายพันธุ์เท่านั้นที่สามารถผลิตคาเวียร์ได้ นั่นก็คือ สายพันธุ์ “Beluga” สายพันธุ์ “Osetra” และสายพันธุ์ “Sevruga”

01. Beluga จัดได้ว่าเป็นคาร์เวียร์ที่ดีที่สุดและมีราคาแพงที่สุด คาเวียร์ชนิดนี้ผลิตจากปลาสเตอร์เจี้ยนขนาดใหญ่ที่สุด (ราว 6 เมตร) หนักราว 600 กิโลกรัม มีน้ำหนักไข่ 15-18 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว เบลูก้าตัวเมียไม่สามารถผลิตไข่ได้ก่อนอายุ 17 ปี (นี่เองทำให้มีราคาแพงหูฉี่) ส่วนมากอาศัยในทะเลสาปแคสเปี้ยน พบบ่อยในบริเวณพรหมแดนระหว่างอิหร่านและรัสเซีย บางครั้งหาได้ในทะเลดำและทะเลอะเดรียติก เพราะฉะนั้น เบลูก้าคาเวียร์ของแท้ส่วนมากจึงมาจาก 2 แหล่งนี้ จะพบเพียงแค่ประปรายในละแวกประเทศใกล้เคียง

หากให้พิจารณาหาความต่างของเบลูก้า คาเวียร์ประเภทนี้แยกได้ง่ายกว่าอันอื่นๆ พินิจพิเคราะห์ดูก็จะเห็นลักษณะของไข่ที่ใหญ่เท่าเมล็ดถั่ว (pea size) สีเทาค่อนไปทางสีเงินจางๆ หรือบางครั้งก็ดำสนิท รสชาตินั้นต้องขบเบาๆ กลั้วด้วยวอดก้า รสดรายของว็อดก้าจะสามารถดึงรสครีมมี่และรสเค็มจากเกลืออ่อนๆ ออกมา เมื่อกัดไข่แต่ละหน่วยจะพบความมัน-ไม่มีกลิ่นโคลนดินหลังเทสต์ เนื้อแน่น ผนึกกับความสดกรอบและกลิ่นสดชื่นพิเศษของท้องทะเลหอมฟุ้งในปาก การรับประทานเบลูก้าอย่างถูกวิธีควรรับประทานด้วยช้อนมุก ช้อนกระดูกสัตว์ ช้อนกระเบื้อง ช้อนที่ทำมาจากเครื่องเคลือบ หรือช้อนที่ไม่ได้ทำจากวัสดุเมธาลิก ในเมืองไทย เบลูก้าจะเสิร์ฟเฉพาะในร้านอาหารโก้หรู หรือสั่งพิเศษเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ราคาขายในท้องตลาดอยู่ที่ 7,000-10,000++ ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ลองนึกดูเล่นๆ ก็จะรู้...ว่าต้องเป็นใครถึงจะรับประทานได้!!!

02. Osetra หรือ “Osetra Caviar” นอกจากนี้ยังสามารถเรียกได้อีกหลายชื่อ อาทิ Asetra, Oscetra, Ossetra และ Ossetrova ตามแต่ใจสะดวก ว่ากันว่าไข่ปลาชนิดนี้ผลิตจากปลาสเตอร์เจี้ยนสายพันธุ์ใกล้กันกับเบลูก้า ขนาดจะย่อมลงมา อาศัยอยู่ในน้ำลึก กินสาหร่ายและพืชในน้ำเป็นอาหาร ลำตัวยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักสูงสุด 200 กิโลกรัม ถือว่ามีชื่อเสียงมากถ้าผลิตในบริเวณทะเลสาบแคสเปี้ยน (เหมือนกับสายพันธุ์เบลูก้า แต่ราคาถูกกว่า) แม้ว่าปลาชนิดนี้จะตัวเล็กกว่าเบลูก้า แต่ค่าเฉลี่ยอายุของสัตว์ชนิดนี้อายุยืนถึง 50-80 ปี โตเต็มที่เมื่ออายุ 12-15 ปี วางไข่เฉพาะเขตอบอุ่นเท่านั้น เอาเป็นว่าด้วยวงจรชีวิตของมัน ทำให้ค่าราคาของคาเวียร์ยังคงราคาแพง (แต่ก็ยังถูกกว่าเบลูก้าเกือบครึ่ง)

คำถามต่อมา...แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นออสตร้า คาเวียร์ ให้สังเกตลักษณะหลักๆ ได้ง่ายๆ ก็คือ ไข่ปลาจะมีขนาดกลาง เนื้อสัมผัสค่อนข้างแข็ง รสจัดกว่าเบลูก้า นอกเหนือจากนั้น ความพิเศษของคาเวียร์ชนิดนี้ก็คือ มีหลายสี อาทิ สีเทา สีดำเทา สีน้ำตาลเทา สีน้ำตาลเข้ม สีเทาอมทอง สีทองอำพัน ทั้งยังมีหลายรสชาติตามแต่สิ่งที่เจ้าปลารับประทานเข้าไป โดยราคาขายในเมืองไทยประมาณ 125,000 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนของดีของแพงชนิดที่ต้องท่องเอาไว้เผื่อมีคนสั่งให้กินก็คือ “Iranian Caviar” อ่านว่า อิ-ราน-เนี่ยน-คา-เวีย มันก็คือคาเวียร์จากประเทศอิหร่าน--นั่เนอง

03. Sevruga โดดเด่นที่รสแน่นข้น ไข่ใบเล็กๆ รสมันและเค็มจางๆ กลิ่นทะเลและสาหร่ายหอมระรื่น เคี้ยวแล้วจะเหนียวกว่าเบลูก้า (แต่ขอบอกว่าราคาถูกกว่าถึง 50-70 เปอร์เซ็นต์) คาเวียร์ชนิดนี้มาจากปลาสเตอร์เจี้ยนขนาดเล็กที่สุด ยาวประมาณ 1.5 เมตร หนักเพียง 25 กิโลกรัม ทั้งยังมีจำนวนมากกว่าปลาสเตอร์เจี้ยน 2 พันธุ์แรก ข้อดีของปลาชนิดนี้คือผลิตไข่ได้รวดเร็ว แล้วยังผลิตได้อีกหลายครั้งหลายครา เซฟรุก้าเพศเมียเติบโตเต็มที่ได้รวดเร็วกว่าสเตอร์เจี้ยนพันธุ์อื่น (เรียกว่าปลาแก่แดดได้ไหม) สามารถผลิตไข่ได้เมื่ออายุเพียง 7-8 ปี

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ผลิตไข่ได้ดีที่สุดก็เมื่ออายุประมาณ 18-22 ปี ไข่จะมีน้ำหนัก 10-12 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ครั้นเมื่อชาวประมงจับเซฟรุก้าตัวเมียที่กำลังท้องได้ พวกเขาก็จะผ่าท้อง ชำแหละเอาไข่ออกมา ไข่เม็ดเล็กๆ ยุบยับถูกห่อหุ้มด้วยพังผืด ต้องใช้วิธีขยำให้ไข่หลุดออกมา จากนั้นนำไปคลุกเคล้ากับเกลือให้สะอาดจนขึ้นเงา แล้วบรรจุไว้ในกล่องดีบุก แช่เย็นเพื่อรักษาความสด

นอกจากนั้น เมื่อเชฟรุก้าสุกจัด ไข่จะมีความอ่อนนุ่ม แตกง่าย ไข่ส่วนมากที่อยู่ในพังผืดมักสุกไม่เท่ากัน หลังชำแหละ ไข่ที่แตกแล้วจึงนำมาอัดไว้ในกระป๋องให้แน่น รู้จักกันในชื่อ “Pressed Caviar” รสสัมผัสจะหนืดหยุ่นๆ บางคนเท่านั้นที่จะชอบมัน ส่วนไข่เซฟรุก้าที่หายากและแพงมากคือ เซฟรุก้าสีทอง ลักษณะไข่จะใบเล็กๆ ธรรมเนียมแต่โบราณ เซฟรุก้าชนิดนี้นิยมเสิร์ฟให้กับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย กษัตริย์อิหร่าน และจักรพรรดิ์แห่งออสเตรียน
ส่วนผู้บริโภคอย่างเราๆ หากสังเกตเซฟรุก้าตามท้องตลาด เลือกมองหาง่ายๆ ส่วนมากไข่จะเป็นสีเทาเขียวหรือไม่ก็เป็นสีดำเทา ด้วยความที่รสชาติเข้มข้น จึงต้องรับประทานกับเครื่องเคียง อันประกอบด้วยมันฝรั่งบดอุ่นๆ ก้อนเล็กๆ วางบนแป้ง Blini รับประทานกับซาวร์ครีม ครีมสด หอมใหญ่สับ ไข่ขาวต้มจนแข็งโป๊กแล้วนำไปสับ หรือร้านอาหารบางแห่งอาจใช้ไข่นกกระทาแข็งๆ เสิร์ฟแทนก็ไม่ผิด ส่วนเครื่องดื่มที่ใช้ดื่มคู่กันก็หนีไม่พ้นวอดก้า หากแต่ในระยะหลังเมื่อเชฟรุก้าถูกเสิร์ฟในแวดวงอาหารฝรั่งเศส ธรรมเนียมก็แปรเปลี่ยน เริ่มมีการเสิร์ฟคาเวียร์พร้อมโรเซ่ไวน์ ไวน์ขาว และแชมเปญ เพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารเคียงไวน์ของเขา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น