วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

จาระไนความ


แม้จะมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมบ้าง แต่มักไม่ค่อยมีคอมเมนต์
ก็อยากจะบอกไว้ว่า เหตุที่นำงานเก่าๆ มาลงไว้ซึ่งเป็นส่วนที่เลือกไว้เล็กน้อยว่ามันพอยังมีประโยชน์บ้างมาลงให้ได้อ่าน จะเก็บไว้แต่ในไดร์ฟ มันก็ทำได้อยู่ (แต่ไม่ทำ)

โอเค เลยเลือกนำบางส่วน ในคอลัมน์เกี่ยวกับเรื่องเก่าๆ มาลงในนี้อีกรอบ

ขอบพระคุณบรรณาธิการทุกคนที่ผ่านเข้ามาสอนสั่งในชีวิต
รวมถึงคุณครูบาอาจารย์ทุกท่าน

In the meaning of fashion

Volume Magazine
Rewind May01 2007
เรื่อง นงนภัส

ความหมายของแฟชั่น

โลกของแฟชั่นคือโลกที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึกและธรรมเนียมปฏิบัติ ถ้าแฟชั่นนั้นโดดเด่น คนจำนวนมากชื่นชอบก็จะสามารถสร้างเทรนด์ได้ในเวลาต่อมา

‘แฟชั่น’ จึงจัดเป็นป๊อป คัลเจอร์ (วัฒนธรรมประชานิยม) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม

อย่างงไปเลยค่ะ...ว่าสินค้าแฟชั่น(ส่วนมาก)ที่แสนแพงจะเกี่ยวโยงอย่างไรกับประชาชนที่มีกำลังการซื้อต่ำ นั่นเพราะคนกลุ่มนี้มีความจำเจอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าดูชม ทำให้พวกเขาจินตนาการถึงสิ่งสวยๆ งามๆ เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์สวยๆ เพื่อหลีกหนีจากโลกความเป็นจริงที่ซ้ำซากน่าเบื่อ โดยใช้วิธีเปิดดูนิตยสารแฟชั่น การเปิดรับข่าวสารจากโทรทัศน์ในระบบฟรีทีวี แม้กระทั่งเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับแฟชั่น อาทิ ในห้องแฟชั่นของ www.pantip.com หรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับแฟชั่นโดยตรงจากต่างประเทศ อาทิ www.instyle.com หรือ www.fashionwiredaily.com หรือแม้แต่ New York times เวอร์ชั่นแมกกาซีนเป็นต้น

แต่อย่างไรเสีย ‘ความชื่นชอบ’ และ ‘การครอบครอง’ สินค้าแฟชั่นของคนไทยนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เส้นกราฟดีมานด์และซัพพลาย ไม่สามารถบรรจบกันได้อย่างลงตัวในราคาที่พึงใจ ผลที่ออกมาคือการใช้สินค้าปลอม สินค้าแปลง (ปรับเปลี่ยนลูกเล่นเล็กน้อยแต่คงรูปแบบไว้เหมือนเดิม และเปลี่ยนแบรนด์ใหม่เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่ของปลอม) อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

สำหรับประชาชนในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ผู้คนนิยมใช้สินค้าแฟชั่นราคาสูง อาทิ สินค้าแบรนด์เนมทั้งหลาย เพราะนอกจากคัตติ้งที่ละเอียดลออ การออกแบบที่ทันสมัย ความใส่ใจในเนื้อผ้าและรายละเอียดของลูกเล่นแล้ว ผู้คนยังเคารพแบรนด์ที่สวมใส่ นั่นคือกุญแจดอกสำคัญของการสร้างแบรนด์ไม่ว่าในธุรกิจใดก็ตาม

หากย้อนไปหาต้นกำเนิดของแฟชั่น แฟชั่นเกิดขึ้นครั้งแรกจากการที่ Worth นักออกแบบเสื้อออกแบบเสื้อให้กับจักพรรดินี Eugénie พระมเหสีของจักรพรรดิ Napoleon lll แห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นี่กระมังคือที่มาของคำว่าปารีส...เมืองแฟชั่น

ในยุคแรกๆ ผู้ที่สร้างแฟชั่นนั้นทำขึ้นเพื่อตอบสนองความสวยงาม แต่เมื่อแฟชั่นผ่านกระบวนการผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความรื่นรมย์ในสังคมระบบทุนนิยม (ซึ่งมาพร้อมกับกระแสบริโภคนิยม) เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายตามแฟชั่นนั่นก็คือ ‘สินค้าเริงรมย์’

ยิ่งไปกว่านั้น แท้จริงแล้วแฟชั่นคือกระบวนการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง โดยมีผู้ส่งสารอันได้แก่ ดีไซเนอร์ ผู้ตัดเย็บ ผู้จำหน่าย รวมไปถึงเสื้อผ้าสุดเลิศ กระเป๋าแสนหรู รองเท้าคู่งาม ฯลฯ สารพัดสินค้า ผ่านช่องทางการสื่อสารเริ่มตั้งแต่ นางแบบที่สวมใส่เสื้อผ้า เวทีเดินแบบ หนังสือ นิตยสารที่มีคอลัมน์หรือรูปภาพเกี่ยวกับแฟชั่น รวมไปถึงการตกแต่งหน้าร้าน การจัดวางเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในห้างสรรพสินค้า โดยแฝงแมสเสจลงในรายละเอียดที่บรรจุอยู่ในแฟชั่น อาทิ การใช้สีของเสื้อผ้าในแต่ละฤดูกาลลวดลายการปัก ลูกเล่นที่ใช้กับเสื้อผ้าของแต่ละคอลเล็กชั่น โดยเนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมดจะถูกส่งไปยังผู้ที่รับสารผ่านทางสื่อต่างๆ หรืออาจจะบังเอิญพบเห็นแฟชั่นนั้นจากห้างช็อปต่างๆ แมสเสจดังกล่าวมีผลก็ต่อเมื่อมีคนมองเห็น
แต่จะมีใครเคยคิดไหมว่าการที่แต่ละบุคคลแต่งตัวตามแฟชั่นนั้นสื่อนัยยะอะไรบ้าง

บางคนใส่เพื่อเป็นความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ การได้แต่งตัวออกจากบ้านสามารถทำให้สดชื่น สบายใจ พวกเขาสรรหาคำเรียกตัวเองว่า ‘แฟชั่นนิสต้า’ ซึ่งแปลว่าผู้คลั่งไคล้การแต่งตัว

บางคนก็ใช้แฟชั่นเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้อื่น สาวใดที่สวมชุดแซกสั้นทำจากผ้าไหมพลาสติกสีแดงเข้มแบบไวน์บอร์โดซ์ เว้าร่องอกลึกเล็กน้อยของดอลเช แอนด์ กับบานา สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้สาวนั้นดูสวยเซ็กซี่ หรือแต่การเกล้าผมรวบตึง แต่งหน้าเฉดเอิร์ธโทน สวมเดรสสีเชสต์นัตของแอร์แมส ถือกระเป๋าแบรนด์หลุยส์ วิตตองก็ดูเรียบหรู ดึงดูดความสนใจไปอีกแบบ

บางคนใช้แฟชั่นเพื่อปกป้องอำพรางความละอาย อาทิ คนเจ้าเนื้อใช้แฟชั่นเสื้อผ้าสีดำช่วยพรางรูปร่างให้ดูเพรียวขึ้น

และอีกหลายคนก็ใช้เพื่อเป็นการบอกสถานะและคุณค่าทางสังคม แน่นอนว่าถ้าใครสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์ดังคอลเลกชั่นล่าสุดเดินเล่นที่ห้างหรูหรือไปแฮงก์เอาต์ในชิกบาร์ คุณไม่สามารถบอกคนอื่นได้ว่าไม่มีอันจะกิน (เขาจะว่าคุณโกหกได้) การสวมเสื้อผ้าราคาแพงนั้นนอกจากจะบอกรสนิยมของผู้สวมใส่ ยังเป็นเครื่องบ่งชี้สถานภาพทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การแต่งกายในนานาความหมายดังกล่าวจึงมีความสัมพันธ์แนบแน่นในชีวิตประจำวัน และเมื่อสั่งสมเป็นระยะเวลานาน แฟชั่นจะมีอำนาจในฐานะเครื่องมือบ่งบอกความทันสมัย เมื่ออำนาจมีพละกำลังมากขึ้นจากการยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ ความหมายของคำว่า ‘แฟชั่น’ ก็จะกลายเป็นอุดมการณ์ทางความคิดของคนในสังคม

ถ้าไม่เชื่อลองหยิบกางเกงขาสั้นเอวสูงและบาร์คล้องคอของลา เพอร์ลา คอลเล็กชันสปริง-ซัมเมอร์ 2007 ใส่ดูสิ แต่ถ้าอยู่เมืองไทยกลัวใครจะว่าโป๊ สวมแจ๊กเก็ตเท่ๆ ของอาร์มานีทับ ที่สำคัญอย่าลืมสวมรองเท้าส้นสูงปรี๊ดของจิมมี่ ชู ใส่งานปาร์ตี้สิอย่างไรเสียต่อให้คุณมีรูปร่างท้วมนิดหน่อย ไม่เพรียวลมเหมือนนางแบบ ใครๆ ก็ต้องบอกว่าคุณเป็นคนเก๋และเป็นสาวแฟชั่นนิสต้าตัวจริง

แต่จะมีสักกี่คนที่สวมใส่ตามเทรนด์ได้ดั่งใจ ซึ่งไม่กี่คนนั้นก็คือยอดปิรามิดของคนในสังคม ถ้ามองในมุมกลับ ‘แฟชั่น’ นี่แหละที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของคนในสังคมเรื่องความไม่เท่าเทียมกันได้อย่างชัดเจนที่สุด

ด้วยเหตุที่แฟชั่นคือภาพลักษณ์ทางสถานะ บทบาทและตำแหน่งทางสังคมของผู้สวมใส่
Volume Magazine
Rewind August 02 2007
เรื่อง นงนภัส

Modern Bangkoker

คนกรุงเทพเริ่มใช้ชีวิตเป็นคนเมืองสมัยใหม่ตั้งแต่เมื่อใด

คนเมืองรุ่นใหม่ของกรุงเทพเริ่มปรากฏและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนนับตั้งแต่ช่วงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว--ช่วงที่มีการขยายตัวของระบบการศึกษาสมัยใหม่ทำให้คนที่มีการศึกษาเริ่มแสวงหาอาชีพใหม่ๆ ได้หลากหลาย ประกอบกับเริ่มมีการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้คนกรุงเทพรุ่นใหม่มีอาชีพและรายได้ที่แน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบริโภคจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

ในรัชสมัยนี้เช่นกันที่ธนาคารต่างชาติเริ่มมีการทำ ‘แบงก์โน้ต’ ของตนเองออกมาขับเคลื่อนการทำธุรกิจ ในระยะแรกแบงก์โน้ตถูกใช้กันในหมู่พ่อค้าชาวต่างประเทศและราษฎรชั้นสูงในกรุงเทพเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความมีเอกราชทางการเงินของประเทศ หนึ่งปีให้หลังรัฐบาลสยามได้สั่งพิมพ์ธนบัตรของตนเอง แต่ยังไม่ได้ใช้งานเนื่องจากเกิดวิกฤตหลายประการ จึงต้องเลื่อนการใช้ธนบัตรออกไป

หลังจากที่รวบรวมการปกครองตามระบบมณฑลเทศาภิบาลได้แล้ว ถึงได้มีการกระจายตัวของเงินตรามาตรฐานเดียวเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการสั่งทำธนบัตรจากห้างโทมัส เดอ ลา รู แห่งกรุงลอนดอน เป็นธนบัตรราคา 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ1,000 บาทขึ้น ธนบัตรดังกล่าวส่งมาถึงกรุงเทพในปี พ.ศ. 2445 พิธีเปิดกรมธนบัตรวันที่ 19 กันยายน และเปิดกิจการทั่วไปในอีก 4 วันต่อมา

ในช่วงเวลาที่เงินตรากระจายในสังคมอย่างรวดเร็ว ลักษณะการบริโภคของชาวเมืองกรุงเทพ ทั้งในเรื่องอาหารการกินและการบริโภครสนิยมในชีวิตประจำวันก็เปลี่ยนไป

ถนนสายสำคัญในย่านธุรกิจการค้า อาทิ ถนนเจริญกรุงทั้งในและนอกพระนคร ถนนเฟื่องนคร ถนนสำเพ็งและถนนรอบพระนครชั้นใน มีการขายเหล้าและยาฝิ่นสูงที่สุด ตามติดมาด้วยร้านขายของต่างๆ ร้านจำหน่ายของทั่วๆ ไป บ้านเรือนร้านค้าที่ประกอบกิจการต่างๆ อาทิ โรงรับจำนำ ร้านเขียนหวย โรงรถเช่า โรงโสเภณี อันดับสุดท้ายคือ ร้านขายอาหาร ขนมและผลไม้

ในเวลานั้น ร้านขายอาหารประเภทข้าวแกง ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ขนมจีน ยังมีไม่มากในกรุงเทพ (ถนนเจริญกรุงถือเป็นถนนที่มีการตั้งร้านประเภทดังกล่าวมากที่สุดในกรุงเทพ) ซึ่งจำนวนของร้านอาหารประเภทดังกล่าวสามารถบ่งชี้ว่าคนไม่ได้ทำอาหารรับประทานเองที่บ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้น นั่นย่อมทำให้สภาพเมืองสมัยใหม่ของกรุงเทพเด่นชัดขึ้น

ประเด็นเรื่องการกินอาหารนอกบ้านของชาวเมืองไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่รีบเร่งในการทำงานเท่านั้น หากแต่การรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นการพักผ่อนหย่อนใจลักษณะหนึ่ง ยิ่งคนในสังคมมีแรงจับจ่ายใช้สอย อาหารการกินเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความมั่งคั่งของบุคคล ดังนั้นจึงเกิดร้านอาหารหรูหราขึ้นเพื่อเป็นการเสริมฐานะและรสนิยมของคนที่มีฐานะ

เมนูอาหารที่โดดเด่นเป็นที่นิยมของชาวเมืองในขณะนั้นหนีไม่พ้นสตูไก่ ไอศกรีม และอาหารในภัตตาคารจีนหรูหรา อาหารราคาแพงเริ่มมีมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ‘ร้านบันไดทอง’ ตั้งอยู่ที่ตรอกแดง ถนนสำเพ็ง และภัตตาคารห้อยเทียนเหลา สถานที่ที่นิยมเสิร์ฟอาหารราคาแพงรองรับลูกค้าผู้มีฐานะดีโดยเฉพาะ
แน่นอนว่าสินค้าฟุ่มเฟือยและหรูหราประเภทอื่นๆ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ในเขตวังในฐานะสิ่งแปลกใหม่อีกต่อไป หากแต่ยังดำรงอยู่ในสังคมตามแต่ผู้มีกำลังซื้อหา ซึ่งจะทำให้บุคคลผู้นั้นโก้เก๋ต่างจากคนอื่นๆ อาทิ รองเท้าห้างยอนแซมสัน ซองบุหรี่ตรา จ. สาม จ. กระดุมลงยาตราแผ่นดิน สูบกล้องห้างพระปฏิบัติ ผ้าเช็ดหน้าลินินเนื้อหนาอย่างยุโรป บุหรี่อียิปต์ก้นทอง ไม้ขีดไฟสวีเดน ไม้เท้าเชอรี่ รับประทานอาหารโอเรียนเต็ล ดื่มวิสกี้ลอซันและบรั่นดีสามดาวเจือโซดา เป็นต้น

หากกล่าวชีวิตกลางคืนของคนกรุงเทพสมัยใหม่นั้นยังไม่คึกคักนัก คลับชาวตะวันตกในระยะแรกมีเพียง 2 คลับที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ คือ คลับอังกฤษและคลับเยอรมัน ซึ่งในตอนนั้นยังไม่เปิดกว้างให้สำหรับบุคคลทั่วไป นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2430 (ปลายรัชกาลที่ 5) อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ภาพยนตร์จะเข้ามากลายเป็นสิ่งบันเทิง ลักษณะการพักผ่อนหย่อนใจรูปแบบใหม่เริ่มปรากฏเด่นชัด ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนชั้นสูงที่เลียนแบบชาติตะวันตก เพียงแค่ 2 ปีหลังจากนั้นสโมสรและคลับในเมืองไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ‘บางกอกกันคลับ’--คลับสำหรับกิจกรรมยิงนกพิราบ ‘ราชกรีฑาสโมสรณ์ กรุงเทพ’--คลับที่จำลองรูปแบบการจัดสโมสรและกิจกรรมต่างๆ มาจากเมืองนอกแทบทั้งสิ้น

กระนั้นชีวิตกลางคืนเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเมื่อล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ใน ปี พ.ศ. 2464 สีสันของไนต์ไลฟ์เริ่มต้นตั้งแต่พลบค่ำเป็นต้นไป กรุงเทพสว่างไปด้วยแสงไฟ ภัตตาคาร ร้านอาหารหลายร้านเน้นบริการเสิร์ฟอาหารรสเลิศในยามค่ำคืน ถนนราชวงศ์เป็นถนนหลักแห่งความบันเทิง ราวกับว่าถนนสายนี้หลังเที่ยงคืนคล้ายคนเพิ่งตื่นนอน ผู้คนออกจากโรงหนังโรงละคร มุ่งสู่ร้านขายไอศกรีมโซดา ร้านขายอาหารคับคั่งริมถนน หลังจากรับประทานเสร็จผู้คนอาจเดินไปต่อที่ภัตตาคารย่านเยาวราช หรือสถานที่อื่นๆ ได้ตลอดทั้งคืน

เชื่อว่าตอนนั้นคนที่นิยมบริโภคความหรูหราโดยการแสดงออกผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน คงยังไม่ทราบว่าตนเองกำลังก้าวเข้าสู่ลัทธิอันทรงพลังไปทั้งโลก--‘บริโภคนิยม’

ว่ากันว่าลัทธินี้แทรกซึมผู้คนอย่างช้าๆ เพื่อตอบสนองกิเลสมนุษย์อย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้ผู้คนเห็นว่าการมีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์คันโก้และมีสินค้าแบรนด์เนมไว้ครอบครองช่วยสร้างเสริมสถานภาพทางสังคมให้ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับนับหน้าถือตาว่าเป็นผู้ดีมีเงิน

กระทั่งถึงวันนี้ที่คุณบริโภคนิยมได้ลงลึกฝังในหัวของทุกคนแล้ว สบัดทิ้งเท่าไรเชื่อขนมกินได้ว่าอย่างไรก็ไม่มีวันหลุด

จากสาวรำวงถึงโคโยตี้

Volume
Rewind Jan02 2007
เรื่อง นงนภัส

จากสาวรำวงถึงโคโยตี้

ในทุกยุคทุกสมัยความบันเทิงกับสังคมไทยเป็นเรื่องที่เข้ากันได้ดีเสมอมา

อาจเป็นเพราะคนไทยชอบหลีกหนีความเครียด ถ้าเครียดเมื่อไรต้องหาวิธีดับทุกข์ ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง หรือเที่ยวตามสถานบันเทิงยามราตรี หน้าที่ปลดทุกข์ปลดเครียดจึงตกไปอยู่ที่ความบันเทิง
เมื่อผู้หญิงเครียด มักหาทางบำบัดด้วยการดูแลตัวเอง อาทิ ทำสปา ชมละครเวที หรือไม่ก็คุยเรื่องเซ็กซ์กับเพื่อนสาว

แล้วผู้ชายล่ะ…สถานบันเทิงคือตัวเลือกอันดับแรกที่ชายหนุ่มพร้อมใจไปสังสรรค์เฮฮาในหมู่เพื่อน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาวๆ ดาวเต้น คือกลุ่มคนที่ช่วยคลายเครียดให้คุณผู้ชายที่แสวงหาความบันเทิงในทุกยุคทุกสมัย

พวกเธอรอให้ความสุขด้วยการยักย้ายส่ายสะโพก

สาวรำวง หางเครื่อง แดนเซอร์ สาวโคโยตี้ และสาวเอนเตอร์เทนเนอร์ คือชื่อเรียกของสาวดาวเต้นที่กาลเวลาพัฒนาลีลาของพวกเธอขึ้นมาตามลำดับ

ในสมัยก่อนเรามีสาวรำวงไว้แสดงในงานวัด ก่อนที่เพลงลูกทุ่งจะโด่งดังเป็นพลุแตก วงดนตรีที่มีชื่อส่วนมากจะมีหางเครื่องไว้คอยเต้นลีลาประกอบเพลง เพราะส่วนใหญ่นักร้องหัวหน้าวงลูกทุ่งที่หน้าตาดีมีน้อยมากถ้าเทียบกับสมัยนี้ น้ำจิ้มดีๆ จึงเป็นหน้าที่ของหางเครื่อง--ผู้หญิงหน้าตาดี หุ่นสะโอดสะองในชุดเร้าอารมณ์ กระตุกต่อมความสนใจของผู้ชมให้ชุ่มชื่นหัวใจ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นปลุกใจเสือป่า

สำหรับ ‘อะโกโก้’ นั้นได้รับอิทธิพลจากฝั่งอเมริกาแผ่เข้ามาถึงย่านพัทยาในเมืองไทย การเต้นประเภทนี้โดดเด่นด้วยลีลาเย้ายวนและการแต่งกายยั่วยุอารมณ์ทางเพศ ลักษณะการเต้นเป็นแบบหางเครื่องแต่เพิ่มดีกรีความเซ็กซ์ติดเรตเอกซ์เข้าไป โดยมีเสาเป็นอุปกรณ์ประกอบการเต้น อะโกโก้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘เต้นรูดเสา’ ทำให้ในเวลาต่อมาการเต้นชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักเต้นย่านสีลม และพัฒน์พงษ์

และเมื่อเพลงสตริงได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเกิดการเต้นแดนเซอร์ขึ้นมา ในระยะแรกยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไร แต่เมื่อมีการเลียนแบบท่าเต้นจากต่างประเทศประกอบกับการพัฒนาลีลาท่าทาง ทำให้อาชีพแดนเซอร์เป็นที่ต้องการของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ นอกจากรายได้งามแล้ว ข้อดีของอาชีพนี้คือมีอิสระในการรับงาน โดยที่ไม่ต้องผูกขาดกับการเต้นของวงดนตรีใดเหมือนกับหางเครื่อง

และถ้าพูดถึงที่มาของ ‘สาวโคโยตี้’ เป็นอันรู้กันว่ามีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Koyote Ugly’ เรื่องราวเกี่ยวกับนักสร้างความบันเทิงตามไนต์คลับที่พยายามหาทางให้นักดื่มได้เมาเร็วขึ้น ด้วยลีลาการเต้นเร้าใจบนเคาน์เตอร์บาร์

ในเมืองไทย เดอะฟอร์เต้ ‘The Forte’ คือแหล่งบันเทิงแห่งแรกที่นำหญิงสาวขึ้นเต้นบนเคาน์เตอร์บาร์ กระทั่งร้านนี้ย้ายจากสุขุมวิท 24 มาอยู่ในอาร์ซีเอ ก็ยังคงจุดขายไว้อย่างเหนียวแน่น ทำให้เดอะฟอร์เต้เป็นคลับเดียวที่โดดเด่นด้วยนักเต้นโคโยตี้ ก่อนที่การเต้นของสาวกลุ่มนี้จะกระจายตัวไปตามสถานบันเทิงอื่น
การเต้นโคโยตี้เป็นส่วนผสมของการเต้นรำหลายๆ ประเภทเข้าไว้ด้วยกัน โดยปกติจะเต้นในช่วงที่ดีเจเปิดเพลงเป็นรอบ รอบละ 30-45 นาที และต้องเต้นบนเคาน์เตอร์บาร์ด้วยเสื้อผ้าที่หนีไม่พ้นเสื้อตัวจิ๋วกับกางเกงขาสั้นรัดรึงเรือนร่าง โดยมีลูกค้าซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชายนั่งรายล้อมอยู่รอบเคาน์เตอร์

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าเหล่านั้นทำได้แค่เพียงดูด้วยตา มืออย่าต้อง ไม่เช่นนั้นจะโดนตบ แต่ไม่ห้ามเลี้ยงดริงก์หรือให้ทิปสำหรับสาวที่เต้นถูกใจ ส่วนจะพูดคุยหรือมีการสานสัมพันธ์อะไรต่อ เรื่องนั้นขึ้นอยู่กับเกรดของร้านและกฎอันเข้มแข็งของสถานที่

สาวๆ ที่ทำอาชีพนี้สิ่งเดียวที่เธอต้องการคือ ‘รายได้ดีๆ สำหรับการเลี้ยงชีพ’ ในหนึ่งเดือนสาวโคโยตี้จะมีรายได้อยู่ระหว่าง 30,000-100,000 บาท มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ส่งเสียตัวเองเรียนและหารายได้ให้ครอบครัวด้วยอาชีพดังกล่าว

นอกจากนี้สาวโคโยตี้ยังถูกนำมาใช้กับการตลาด เช่น การโปรโมตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าสำหรับผู้ชาย อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ บางงานที่มีสาวโคโยตี้เต้นประกอบการประชาสัมพันธ์ ถ้างานนั้นได้รับความนิยมจากผู้บริโภคก็จะมีการบันทึกการแสดงเพื่อออกจำหน่ายในรูปแบบวิดีโอซีดี การดึงดูดลูกค้าด้วยการเต้นโคโยตี้จึงไม่ใช่งานในสถานบันเทิงยามค่ำคืนเท่านั้นอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้การเต้นโคโยตี้จึงเป็นนโยบายส่งเสริมการตลาดที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม อย่างไรก็ตาม กาลเทศะยังเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ควรนำการแสดงนี้ไปจัดผิดที่ผิดทาง เช่น ในโรงเรียนหรือวัดอย่างที่เคยเป็นกรณีโด่งดัง--กรณีเต้นโคโยตี้หน้างานศพ หรือกรณีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชปรารภแสดงความห่วงใยถึงความไม่เหมาะสม อันเนื่องมาจากพระองค์ได้ทอดพระเนตรการเต้นโคโยตี้ในงานบุญบั้งไฟที่จังหวัดหนองคาย จนทำให้กระทรวงวัฒนธรรมต้องออกมาจัดวาระแก้ไขนโยบายวัฒนธรรมแห่งชาติ

อันที่จริงเรื่องแบบนี้ไม่ควรต้องร้อนไปถึงกระทรวงวัฒนธรรม เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกรู้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรกระทำ เท่านี้ก็ไม่เป็นการแก้ปัญหาแบบวัวหายแล้วล้อมคอกอย่างเคยๆ

เปลือยนู้ด

Volume
Rewind ก.พ.แรก 50
เรื่อง นงนภัส

เปลือยนู้ด

กามารมณ์เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และต้องยอมรับว่าภาพนู้ด คือหนึ่งในกลไกการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

เนื่องจากนู้ดคือภาพนิ่งที่มีภาษาภาพชัดเจนในเรื่องการเร้าอารมณ์ให้เกิดความกำหนัดและความต้องการทางเพศ ประเทศไทยเริ่มมีการถ่ายนู้ดครั้งแรกเมื่อปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2450) โดยช่างภาพนู้ดคนแรกๆ คือ เจอันโต นีโอ และโรเบิร์ต เลน งานในยุคแรกคือนู้ดในโปสการ์ด

คนไทยรุ่นแรกที่จับงานถ่ายภาพนู้ดเป็นนักเรียนนอกที่มีแนวคิดสมัยใหม่--หลวงวิลาสปริวัติ หรือครูเหลี่ยม ได้ออกหนังสือชื่อสำราญวิทยา พิมพ์ครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 2450-2452 อีกทั้งครูเหลี่ยมยังเป็นนักเขียนอีโรติกในยุคแรกของไทย

หนังสือแนวอีโรติกที่เก่าแก่ที่สุดของไทยคือ พระตำรับโยนี ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2450 จำนวน 200 เล่ม ผลจากกระแสทุนนิยมตะวันตกทำให้ภาพนู้ดได้รับการตีพิมพ์มากขึ้นและมากขึ้น จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2500 กระแสนู้ดเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อสุราไทยยี่ห้อหนึ่ง ได้จัดพิมพ์ปฏิทินเพื่อแจกลูกค้า ผลคือปฏิทินแม่โขงฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง สร้างความฮือฮาให้กับสังคมเป็นอย่างมาก เท่าที่ทราบมาปฏิทินแม่โขงได้ยุติบทบาทตัวเองลงเมื่อปี 2542 อันเนื่องมาจากพิษเศรษฐกิจ มิเช่นนั้นต้นปีที่ผ่านมาคงมีกระแสนู้ดแม่โขงให้ประชาชนตื่นเต้นไม่น้อย

กระนั้นภาพนู้ดก็ได้รับการยอมรับว่าแรงจริง กับการปรากฏตัวของนิตยสารหนุ่มสาวและนิตยสารแมน ในช่วงปี 2520-2530 นับว่าหนังสือสองเล่มนี้เป็นผู้นำกระแสนู้ดในช่วงนั้น อีกทั้งยังเป็นชนวนให้เกิดหนังสืออื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็น นิตยสาร M, Formen, Penthouse หรือแม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์อื่นก็แฝง ‘นู้ด’ ไว้แทบทั้งสิ้น ทั้งรูปภาพแฟชั่น บทความ และเรื่องสั้น ฯลฯ

ตั้งแต่สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องโป๊ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมา บทบาทนี้ถูกวิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นไปในทางลบ อันเนื่องมาจากเรื่องทางเพศเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคมไทย เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่กระนั้นแรงสนับสนุนจากสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ก็ยังคงมีผู้ซื้อ ซึ่งเป็นพลังเงียบคอยอุดหนุนผู้จัดทำด้วยดีตลอดมา แม้คนในสังคมจะยอมรับว่าไม่เหมาะสม แต่ปริมาณยอดขายนั้นเป็นตัวบอกว่ายังมีความต้องการอยู่มาก แบบนี้แหละที่เขาเรียกว่าปากไม่ตรงกับใจ หรือสังคมไทยเป็นพวกปากว่าตาขยิบ

การนำเสนอภาพนู้ดของสื่อมวลชนมักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างสม่ำเสมอว่าเป็น ‘ศิลปะ’ หรือ ‘อนาจาร’ แม้บางสื่อจะเสนอนู้ดอย่างไม่โจ่งแจ้ง ปิดโน่นนิด เปิดนั่นหน่อย ไม่สามารถเห็นอวัยวะเซ็กซี่อย่างหน้าอก บั้นท้าย และโยนี ได้ทั้งหมด มีผลให้เปลี่ยนการเรียกจาก ‘ภาพนู้ด’ มาเป็น ‘ภาพเซ็กซี่’
ในเมื่อนู้ดคือภาพเปลือยกายล่อนจ้อน ดั้งนั้น เมื่อไม่เปลือยจนหมดเปลือก ก็ไม่ถือว่าเป็นนู้ด

ย้อนหลังไปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว กระแสการต่อต้านภาพดาราถ่ายหวิวค่อนข้างรุนแรง บางรายถูกต้นสังกัดสั่งระงับงาน และห้ามออกสื่อต่างๆ เพราะถือว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับเยาวชน แต่เม็ดเงินจำนวนมากที่จ้างให้นางแบบเปลื้องผ้านั้นช่างล่อตาล่อใจ จึงทำให้ดารา-นางแบบหลายคน อาทิ อังคณา ทิมดี, โยโกะ ทาคาโน่, วีนัส มีวรรณ สุกัญญา มิเกล ฯลฯ ยกขบวนประชันโฉมความเซ็กซี่กันอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะเมื่อลูกเกด-เมทนี กิ่งโพยม และเฮเลน-ปทุมรัตน์ วรมาลี ออกมาถ่ายภาพเซ็กซี่ ก็ยิ่งทำให้กระแสเซ็กซี่บังเกิดขึ้นโดยชอบธรรมในหมู่ดารา-นางแบบในที่สุด

นอกจากนี้เพื่อลดกระแสการต่อต้านจากสังคม ผู้ผลิตภาพยังคิดค้นกระบวนการสร้างความยอมรับจากมวลชลต่างๆ นานา อาทิ จ้างผู้มีชื่อเสียงทางศิลปะมาจัดท่าทางการแสดงแบบ หรือสรรหาบุคคลมีชื่อเสียงมาเป็นแบบ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง อีกนัยหนึ่งก็คือการทำให้สังคมยอมรับเรื่องเพศมากขึ้น

ทั้งนี้ การเรียนรู้เรื่องเพศเป็นสิ่งจำเป็น การนำเสนอภาพนู้ดต่อสาธารณชนก็ควรเสนออย่างสมเหตุสมผล ถูกกาลเทศะ และไม่ควรละเลยแง่มุมความงามทางศิลปะ

มิเช่นนั้นภาพนู้ดที่เคยถือเป็นความงามทางศิลปะแขนงหนึ่ง จะถูกลดค่าเหลือเพียงผลผลิตความดิบเถื่อนเท่านั้นเอง

สาวเชียร์เบียร์

Volume magazine
Rewind October 02 2007
เรื่อง นงนภัส

สาวเชียร์เบียร์

พรายฟองเบียร์ที่ถูกรินจากมือคู่เรียวสวยของสาวเชียร์เบียร์หน้าหวาน--ภาพที่เห็นได้อย่างกลาดเกลื่อนตามร้านอาหาร ลานเบียร์ และคาเฟ่ในชั่วโมงนี้

หากจะกล่าวถึงที่มาของสาวเชียร์เบียร์ คงต้องจัดกลุ่มคนอาชีพนี้เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมพริตตี้ (สาวเชียร์สินค้า) อุตสาหกรรมที่ใช้ความงามและเรือนร่างกระตุ้นยอดขายสินค้า ร่างกายสวยงามย่อมเป็นต้นทุนชั้นดีในการสร้างทรัพย์ อาชีพสาวพริตตี้ถือเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีของวัยรุ่นหญิงที่อยู่ในวัยเล่าเรียน

ทั้งนี้ รากเหง้าของอาชีพพริตตี้เกิดมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยสาวพริตตี้จะมีลักษณะการจ้างงานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ การจ้างงานชั่วคราวในช่วงปิดภาคเรียน ประเภทที่ 2 คือ จ้างเป็นพนักงานประจำ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว คนที่ทำงาน พริตตี้ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการจ้างงานชั่วคราว เพราะนอกจากได้สลับสับเปลี่ยนหน้าตาของ พริตตี้แล้ว ความสวยงามอ่อนวัยคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้จ้างต้องการลูกจ้างชั่วคราวประเภทนิสิตนักศึกษามากกว่าลูกจ้างประจำ

หน้าที่หลักของสาวพริตตี้คือ ให้คำแนะนำสินค้า หรือพูดง่ายๆ ว่าเชียร์ให้ลูกค้าซื้อสินค้า เพราะการขายไม่ได้หมายถึงค่าคอมมิชชั่นที่สาวพริตตี้ควรจะได้ลดลง

อย่างไรก็ตาม อาชีพพริตตี้ไม่ได้มีดีแค่เพียงความสวยเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมีความอดทนเป็นเลิศ ห้ามโกรธ ห้ามฉุนเฉียว และบึ้งตึงใส่ลูกค้า หากลูกค้าคนใดไม่สุภาพกับตนต้องหาวิธีแก้หรือวิธีเลี่ยงที่สงบและสุภาพที่สุด อีกทั้งยังต้องดูแลร่างกาย ห้ามอ้วน ห้ามมีสภาพร่างกายร่วงโรย สุขภาพทรุดโทรมเป็นพริตตี้ไม่ได้เป็นอันขาด

นี่แหละหนาความยากลำบากของอาชีพที่ขายเรือนร่าง (ผ่านทางสายตา)

สำหรับสาวเชียร์เบียร์--อาชีพที่สะท้อนให้เห็ถึงนโครงสร้างของสังคมแบบจำลอง ซึ่งกำลังอธิบายระบบความคิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การต่อรองเชิงอำนาจระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ด้วยการที่ผู้หญิงต้องใช้เรือนร่างของตัวเองเพื่อสร้างความต้องการเสพเบียร์ (สินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ชาย) ซึ่งทำให้ผู้ชายดูมีอำนาจมากกว่าผู้หญิงอย่างชัดเจน

เพราะกว่าสาวเจ้าจะเชียร์เบียร์ได้แต่ละขวดต้องใช้ทั้งความงามของหน้าตา จริตมารยา รอยยิ้มหวาน และคำพูดจาไพเราะเสนาะหู บอกได้เลยว่าอาชีพนี้เหนื่อยแสนเหนื่อย ที่สำคัญที่สุดสาวเชียร์เบียร์ไม่ได้มีรายได้งามเหมือนพริตตี้ขายรถยนต์ ที่จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเยอะๆ ให้หายเหนื่อย

ปัจจุบันสาวเชียร์เบียร์ร้อยละ 70 เป็นแรงงานหญิง--นิสิตนักศึกษาที่หารายได้พิเศษด้วยรูปแบบอาชีพสาวเชียร์เบียร์ บริษัทที่รับพนักงานเชียร์เบียร์จะคัดเลือกผู้หญิงผิวพรรณสวย หน้าตาและรูปร่างดี (ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าสาวเชียร์คนนั้นขายอยู่ที่ใด หากขายอยู่ในร้านอาหารเกรดเอย่อมต้องสวยมากเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นร้านอาหารทั่วไปคุณสมบัติหลักคือขอให้รูปร่างดีไว้ก่อน) เพราะว่าต้องใส่ยูนิฟอร์มสั้นรัดรูป สวมรองเท้าส้นสูง ยืน เดินและเชียร์ให้ลูกค้าซื้อเบียร์ทั้งคืน

แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่เริ่มอาชีพสาวเชียร์เบียร์ ก่อนการปฏิบัติงานจะมีการอบรมการเอาใจลูกค้า โดยเน้นวิธีและหนทางที่จะทำให้ลูกค้าซื้อเบียร์ การตั้งเป้ายอดขายทำให้พวกเธอทราบถึงจำนวนยอดเบียร์ที่ขาย หากขายได้ตามยอด สาวเชียร์เบียร์จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติม ซึ่งยากมากที่พวกเธอจะได้ค่าคอมมิชชั่นนั้น เพราะความต้องการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาของลูกค้ามีอย่างหลากหลาย

ดังนั้น อัตราค่าจ้างของพวกเธอจึงได้รับเป็นรายวัน สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ตกอยู่ที่วันละ 150 บาท และผู้มีประสบการณ์ตกอยู่ที่วันละ 200-250 บาท โดยเริ่มงานเวลา 18.00-24.00 น. แต่สามารถกลับบ้านได้เมื่อเวลา 01.00 น. เพราะสาวเชียร์เบียร์จำต้องอยู่ช่วยเก็บร้าน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเธอ

นอกจากนี้พวกเธอยังมีโอกาสเสี่ยงมากที่จะถูกคุกคามทางเพศ (เพราะด้วยหน้าที่ของเธอนั้นเปรียบเสมือนวัตถุทางเพศอยู่แล้ว) เชื่อไหมว่าแค่พวกเธอบางคนเสียงห้วนและลูกค้านำไปฟ้องกับนายจ้าง อาจเป็นเหตุให้ค่าจ้างในวันนั้นถูกหัก ในกรณีที่บริการลูกค้าไม่สุภาพ ดังนั้น ฉันในฐานะคนนอกอาชีพบอกได้เลยว่าสาวเชียร์เบียร์คืออาชีพที่ขาดอำนาจการต่อรอง และเท่าที่ทราบยังไม่มีกฎหมายออกมาคุ้มครองพวกเธออย่างจริงจัง

ถ้าคุณแวะไปรับประทานที่ร้านอาหารแล้วได้ยินเสียงว่า "พี่คะดื่มเบียร์ไหมคะ" หรือว่า "พี่คะเบียร์ตัวนี้รสชาติดีนะคะ" ขอให้คุณตอบเธออย่างสุภาพเถอะค่ะ แม้ว่าคุณไม่ได้กระหายเบียร์ก็ตาม

เพราะพวกเธอทำงานแลกเงินด้วยน้ำเสียงอันไพเราะ เปื้อนรอยยิ้มหวานๆ และหยาดเหงื่อชุ่มตัว