วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Volume Magazine
Rewind August 02 2007
เรื่อง นงนภัส

Modern Bangkoker

คนกรุงเทพเริ่มใช้ชีวิตเป็นคนเมืองสมัยใหม่ตั้งแต่เมื่อใด

คนเมืองรุ่นใหม่ของกรุงเทพเริ่มปรากฏและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนนับตั้งแต่ช่วงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว--ช่วงที่มีการขยายตัวของระบบการศึกษาสมัยใหม่ทำให้คนที่มีการศึกษาเริ่มแสวงหาอาชีพใหม่ๆ ได้หลากหลาย ประกอบกับเริ่มมีการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้คนกรุงเทพรุ่นใหม่มีอาชีพและรายได้ที่แน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบริโภคจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

ในรัชสมัยนี้เช่นกันที่ธนาคารต่างชาติเริ่มมีการทำ ‘แบงก์โน้ต’ ของตนเองออกมาขับเคลื่อนการทำธุรกิจ ในระยะแรกแบงก์โน้ตถูกใช้กันในหมู่พ่อค้าชาวต่างประเทศและราษฎรชั้นสูงในกรุงเทพเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความมีเอกราชทางการเงินของประเทศ หนึ่งปีให้หลังรัฐบาลสยามได้สั่งพิมพ์ธนบัตรของตนเอง แต่ยังไม่ได้ใช้งานเนื่องจากเกิดวิกฤตหลายประการ จึงต้องเลื่อนการใช้ธนบัตรออกไป

หลังจากที่รวบรวมการปกครองตามระบบมณฑลเทศาภิบาลได้แล้ว ถึงได้มีการกระจายตัวของเงินตรามาตรฐานเดียวเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการสั่งทำธนบัตรจากห้างโทมัส เดอ ลา รู แห่งกรุงลอนดอน เป็นธนบัตรราคา 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ1,000 บาทขึ้น ธนบัตรดังกล่าวส่งมาถึงกรุงเทพในปี พ.ศ. 2445 พิธีเปิดกรมธนบัตรวันที่ 19 กันยายน และเปิดกิจการทั่วไปในอีก 4 วันต่อมา

ในช่วงเวลาที่เงินตรากระจายในสังคมอย่างรวดเร็ว ลักษณะการบริโภคของชาวเมืองกรุงเทพ ทั้งในเรื่องอาหารการกินและการบริโภครสนิยมในชีวิตประจำวันก็เปลี่ยนไป

ถนนสายสำคัญในย่านธุรกิจการค้า อาทิ ถนนเจริญกรุงทั้งในและนอกพระนคร ถนนเฟื่องนคร ถนนสำเพ็งและถนนรอบพระนครชั้นใน มีการขายเหล้าและยาฝิ่นสูงที่สุด ตามติดมาด้วยร้านขายของต่างๆ ร้านจำหน่ายของทั่วๆ ไป บ้านเรือนร้านค้าที่ประกอบกิจการต่างๆ อาทิ โรงรับจำนำ ร้านเขียนหวย โรงรถเช่า โรงโสเภณี อันดับสุดท้ายคือ ร้านขายอาหาร ขนมและผลไม้

ในเวลานั้น ร้านขายอาหารประเภทข้าวแกง ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ขนมจีน ยังมีไม่มากในกรุงเทพ (ถนนเจริญกรุงถือเป็นถนนที่มีการตั้งร้านประเภทดังกล่าวมากที่สุดในกรุงเทพ) ซึ่งจำนวนของร้านอาหารประเภทดังกล่าวสามารถบ่งชี้ว่าคนไม่ได้ทำอาหารรับประทานเองที่บ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้น นั่นย่อมทำให้สภาพเมืองสมัยใหม่ของกรุงเทพเด่นชัดขึ้น

ประเด็นเรื่องการกินอาหารนอกบ้านของชาวเมืองไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่รีบเร่งในการทำงานเท่านั้น หากแต่การรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นการพักผ่อนหย่อนใจลักษณะหนึ่ง ยิ่งคนในสังคมมีแรงจับจ่ายใช้สอย อาหารการกินเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความมั่งคั่งของบุคคล ดังนั้นจึงเกิดร้านอาหารหรูหราขึ้นเพื่อเป็นการเสริมฐานะและรสนิยมของคนที่มีฐานะ

เมนูอาหารที่โดดเด่นเป็นที่นิยมของชาวเมืองในขณะนั้นหนีไม่พ้นสตูไก่ ไอศกรีม และอาหารในภัตตาคารจีนหรูหรา อาหารราคาแพงเริ่มมีมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ‘ร้านบันไดทอง’ ตั้งอยู่ที่ตรอกแดง ถนนสำเพ็ง และภัตตาคารห้อยเทียนเหลา สถานที่ที่นิยมเสิร์ฟอาหารราคาแพงรองรับลูกค้าผู้มีฐานะดีโดยเฉพาะ
แน่นอนว่าสินค้าฟุ่มเฟือยและหรูหราประเภทอื่นๆ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ในเขตวังในฐานะสิ่งแปลกใหม่อีกต่อไป หากแต่ยังดำรงอยู่ในสังคมตามแต่ผู้มีกำลังซื้อหา ซึ่งจะทำให้บุคคลผู้นั้นโก้เก๋ต่างจากคนอื่นๆ อาทิ รองเท้าห้างยอนแซมสัน ซองบุหรี่ตรา จ. สาม จ. กระดุมลงยาตราแผ่นดิน สูบกล้องห้างพระปฏิบัติ ผ้าเช็ดหน้าลินินเนื้อหนาอย่างยุโรป บุหรี่อียิปต์ก้นทอง ไม้ขีดไฟสวีเดน ไม้เท้าเชอรี่ รับประทานอาหารโอเรียนเต็ล ดื่มวิสกี้ลอซันและบรั่นดีสามดาวเจือโซดา เป็นต้น

หากกล่าวชีวิตกลางคืนของคนกรุงเทพสมัยใหม่นั้นยังไม่คึกคักนัก คลับชาวตะวันตกในระยะแรกมีเพียง 2 คลับที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ คือ คลับอังกฤษและคลับเยอรมัน ซึ่งในตอนนั้นยังไม่เปิดกว้างให้สำหรับบุคคลทั่วไป นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2430 (ปลายรัชกาลที่ 5) อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ภาพยนตร์จะเข้ามากลายเป็นสิ่งบันเทิง ลักษณะการพักผ่อนหย่อนใจรูปแบบใหม่เริ่มปรากฏเด่นชัด ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนชั้นสูงที่เลียนแบบชาติตะวันตก เพียงแค่ 2 ปีหลังจากนั้นสโมสรและคลับในเมืองไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ‘บางกอกกันคลับ’--คลับสำหรับกิจกรรมยิงนกพิราบ ‘ราชกรีฑาสโมสรณ์ กรุงเทพ’--คลับที่จำลองรูปแบบการจัดสโมสรและกิจกรรมต่างๆ มาจากเมืองนอกแทบทั้งสิ้น

กระนั้นชีวิตกลางคืนเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเมื่อล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ใน ปี พ.ศ. 2464 สีสันของไนต์ไลฟ์เริ่มต้นตั้งแต่พลบค่ำเป็นต้นไป กรุงเทพสว่างไปด้วยแสงไฟ ภัตตาคาร ร้านอาหารหลายร้านเน้นบริการเสิร์ฟอาหารรสเลิศในยามค่ำคืน ถนนราชวงศ์เป็นถนนหลักแห่งความบันเทิง ราวกับว่าถนนสายนี้หลังเที่ยงคืนคล้ายคนเพิ่งตื่นนอน ผู้คนออกจากโรงหนังโรงละคร มุ่งสู่ร้านขายไอศกรีมโซดา ร้านขายอาหารคับคั่งริมถนน หลังจากรับประทานเสร็จผู้คนอาจเดินไปต่อที่ภัตตาคารย่านเยาวราช หรือสถานที่อื่นๆ ได้ตลอดทั้งคืน

เชื่อว่าตอนนั้นคนที่นิยมบริโภคความหรูหราโดยการแสดงออกผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน คงยังไม่ทราบว่าตนเองกำลังก้าวเข้าสู่ลัทธิอันทรงพลังไปทั้งโลก--‘บริโภคนิยม’

ว่ากันว่าลัทธินี้แทรกซึมผู้คนอย่างช้าๆ เพื่อตอบสนองกิเลสมนุษย์อย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้ผู้คนเห็นว่าการมีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์คันโก้และมีสินค้าแบรนด์เนมไว้ครอบครองช่วยสร้างเสริมสถานภาพทางสังคมให้ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับนับหน้าถือตาว่าเป็นผู้ดีมีเงิน

กระทั่งถึงวันนี้ที่คุณบริโภคนิยมได้ลงลึกฝังในหัวของทุกคนแล้ว สบัดทิ้งเท่าไรเชื่อขนมกินได้ว่าอย่างไรก็ไม่มีวันหลุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น