วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

จากสาวรำวงถึงโคโยตี้

Volume
Rewind Jan02 2007
เรื่อง นงนภัส

จากสาวรำวงถึงโคโยตี้

ในทุกยุคทุกสมัยความบันเทิงกับสังคมไทยเป็นเรื่องที่เข้ากันได้ดีเสมอมา

อาจเป็นเพราะคนไทยชอบหลีกหนีความเครียด ถ้าเครียดเมื่อไรต้องหาวิธีดับทุกข์ ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง หรือเที่ยวตามสถานบันเทิงยามราตรี หน้าที่ปลดทุกข์ปลดเครียดจึงตกไปอยู่ที่ความบันเทิง
เมื่อผู้หญิงเครียด มักหาทางบำบัดด้วยการดูแลตัวเอง อาทิ ทำสปา ชมละครเวที หรือไม่ก็คุยเรื่องเซ็กซ์กับเพื่อนสาว

แล้วผู้ชายล่ะ…สถานบันเทิงคือตัวเลือกอันดับแรกที่ชายหนุ่มพร้อมใจไปสังสรรค์เฮฮาในหมู่เพื่อน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาวๆ ดาวเต้น คือกลุ่มคนที่ช่วยคลายเครียดให้คุณผู้ชายที่แสวงหาความบันเทิงในทุกยุคทุกสมัย

พวกเธอรอให้ความสุขด้วยการยักย้ายส่ายสะโพก

สาวรำวง หางเครื่อง แดนเซอร์ สาวโคโยตี้ และสาวเอนเตอร์เทนเนอร์ คือชื่อเรียกของสาวดาวเต้นที่กาลเวลาพัฒนาลีลาของพวกเธอขึ้นมาตามลำดับ

ในสมัยก่อนเรามีสาวรำวงไว้แสดงในงานวัด ก่อนที่เพลงลูกทุ่งจะโด่งดังเป็นพลุแตก วงดนตรีที่มีชื่อส่วนมากจะมีหางเครื่องไว้คอยเต้นลีลาประกอบเพลง เพราะส่วนใหญ่นักร้องหัวหน้าวงลูกทุ่งที่หน้าตาดีมีน้อยมากถ้าเทียบกับสมัยนี้ น้ำจิ้มดีๆ จึงเป็นหน้าที่ของหางเครื่อง--ผู้หญิงหน้าตาดี หุ่นสะโอดสะองในชุดเร้าอารมณ์ กระตุกต่อมความสนใจของผู้ชมให้ชุ่มชื่นหัวใจ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นปลุกใจเสือป่า

สำหรับ ‘อะโกโก้’ นั้นได้รับอิทธิพลจากฝั่งอเมริกาแผ่เข้ามาถึงย่านพัทยาในเมืองไทย การเต้นประเภทนี้โดดเด่นด้วยลีลาเย้ายวนและการแต่งกายยั่วยุอารมณ์ทางเพศ ลักษณะการเต้นเป็นแบบหางเครื่องแต่เพิ่มดีกรีความเซ็กซ์ติดเรตเอกซ์เข้าไป โดยมีเสาเป็นอุปกรณ์ประกอบการเต้น อะโกโก้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘เต้นรูดเสา’ ทำให้ในเวลาต่อมาการเต้นชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักเต้นย่านสีลม และพัฒน์พงษ์

และเมื่อเพลงสตริงได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเกิดการเต้นแดนเซอร์ขึ้นมา ในระยะแรกยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไร แต่เมื่อมีการเลียนแบบท่าเต้นจากต่างประเทศประกอบกับการพัฒนาลีลาท่าทาง ทำให้อาชีพแดนเซอร์เป็นที่ต้องการของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ นอกจากรายได้งามแล้ว ข้อดีของอาชีพนี้คือมีอิสระในการรับงาน โดยที่ไม่ต้องผูกขาดกับการเต้นของวงดนตรีใดเหมือนกับหางเครื่อง

และถ้าพูดถึงที่มาของ ‘สาวโคโยตี้’ เป็นอันรู้กันว่ามีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Koyote Ugly’ เรื่องราวเกี่ยวกับนักสร้างความบันเทิงตามไนต์คลับที่พยายามหาทางให้นักดื่มได้เมาเร็วขึ้น ด้วยลีลาการเต้นเร้าใจบนเคาน์เตอร์บาร์

ในเมืองไทย เดอะฟอร์เต้ ‘The Forte’ คือแหล่งบันเทิงแห่งแรกที่นำหญิงสาวขึ้นเต้นบนเคาน์เตอร์บาร์ กระทั่งร้านนี้ย้ายจากสุขุมวิท 24 มาอยู่ในอาร์ซีเอ ก็ยังคงจุดขายไว้อย่างเหนียวแน่น ทำให้เดอะฟอร์เต้เป็นคลับเดียวที่โดดเด่นด้วยนักเต้นโคโยตี้ ก่อนที่การเต้นของสาวกลุ่มนี้จะกระจายตัวไปตามสถานบันเทิงอื่น
การเต้นโคโยตี้เป็นส่วนผสมของการเต้นรำหลายๆ ประเภทเข้าไว้ด้วยกัน โดยปกติจะเต้นในช่วงที่ดีเจเปิดเพลงเป็นรอบ รอบละ 30-45 นาที และต้องเต้นบนเคาน์เตอร์บาร์ด้วยเสื้อผ้าที่หนีไม่พ้นเสื้อตัวจิ๋วกับกางเกงขาสั้นรัดรึงเรือนร่าง โดยมีลูกค้าซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชายนั่งรายล้อมอยู่รอบเคาน์เตอร์

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าเหล่านั้นทำได้แค่เพียงดูด้วยตา มืออย่าต้อง ไม่เช่นนั้นจะโดนตบ แต่ไม่ห้ามเลี้ยงดริงก์หรือให้ทิปสำหรับสาวที่เต้นถูกใจ ส่วนจะพูดคุยหรือมีการสานสัมพันธ์อะไรต่อ เรื่องนั้นขึ้นอยู่กับเกรดของร้านและกฎอันเข้มแข็งของสถานที่

สาวๆ ที่ทำอาชีพนี้สิ่งเดียวที่เธอต้องการคือ ‘รายได้ดีๆ สำหรับการเลี้ยงชีพ’ ในหนึ่งเดือนสาวโคโยตี้จะมีรายได้อยู่ระหว่าง 30,000-100,000 บาท มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ส่งเสียตัวเองเรียนและหารายได้ให้ครอบครัวด้วยอาชีพดังกล่าว

นอกจากนี้สาวโคโยตี้ยังถูกนำมาใช้กับการตลาด เช่น การโปรโมตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าสำหรับผู้ชาย อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ บางงานที่มีสาวโคโยตี้เต้นประกอบการประชาสัมพันธ์ ถ้างานนั้นได้รับความนิยมจากผู้บริโภคก็จะมีการบันทึกการแสดงเพื่อออกจำหน่ายในรูปแบบวิดีโอซีดี การดึงดูดลูกค้าด้วยการเต้นโคโยตี้จึงไม่ใช่งานในสถานบันเทิงยามค่ำคืนเท่านั้นอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้การเต้นโคโยตี้จึงเป็นนโยบายส่งเสริมการตลาดที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม อย่างไรก็ตาม กาลเทศะยังเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ควรนำการแสดงนี้ไปจัดผิดที่ผิดทาง เช่น ในโรงเรียนหรือวัดอย่างที่เคยเป็นกรณีโด่งดัง--กรณีเต้นโคโยตี้หน้างานศพ หรือกรณีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชปรารภแสดงความห่วงใยถึงความไม่เหมาะสม อันเนื่องมาจากพระองค์ได้ทอดพระเนตรการเต้นโคโยตี้ในงานบุญบั้งไฟที่จังหวัดหนองคาย จนทำให้กระทรวงวัฒนธรรมต้องออกมาจัดวาระแก้ไขนโยบายวัฒนธรรมแห่งชาติ

อันที่จริงเรื่องแบบนี้ไม่ควรต้องร้อนไปถึงกระทรวงวัฒนธรรม เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกรู้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรกระทำ เท่านี้ก็ไม่เป็นการแก้ปัญหาแบบวัวหายแล้วล้อมคอกอย่างเคยๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น