วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

In the meaning of fashion

Volume Magazine
Rewind May01 2007
เรื่อง นงนภัส

ความหมายของแฟชั่น

โลกของแฟชั่นคือโลกที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึกและธรรมเนียมปฏิบัติ ถ้าแฟชั่นนั้นโดดเด่น คนจำนวนมากชื่นชอบก็จะสามารถสร้างเทรนด์ได้ในเวลาต่อมา

‘แฟชั่น’ จึงจัดเป็นป๊อป คัลเจอร์ (วัฒนธรรมประชานิยม) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม

อย่างงไปเลยค่ะ...ว่าสินค้าแฟชั่น(ส่วนมาก)ที่แสนแพงจะเกี่ยวโยงอย่างไรกับประชาชนที่มีกำลังการซื้อต่ำ นั่นเพราะคนกลุ่มนี้มีความจำเจอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าดูชม ทำให้พวกเขาจินตนาการถึงสิ่งสวยๆ งามๆ เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์สวยๆ เพื่อหลีกหนีจากโลกความเป็นจริงที่ซ้ำซากน่าเบื่อ โดยใช้วิธีเปิดดูนิตยสารแฟชั่น การเปิดรับข่าวสารจากโทรทัศน์ในระบบฟรีทีวี แม้กระทั่งเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับแฟชั่น อาทิ ในห้องแฟชั่นของ www.pantip.com หรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับแฟชั่นโดยตรงจากต่างประเทศ อาทิ www.instyle.com หรือ www.fashionwiredaily.com หรือแม้แต่ New York times เวอร์ชั่นแมกกาซีนเป็นต้น

แต่อย่างไรเสีย ‘ความชื่นชอบ’ และ ‘การครอบครอง’ สินค้าแฟชั่นของคนไทยนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เส้นกราฟดีมานด์และซัพพลาย ไม่สามารถบรรจบกันได้อย่างลงตัวในราคาที่พึงใจ ผลที่ออกมาคือการใช้สินค้าปลอม สินค้าแปลง (ปรับเปลี่ยนลูกเล่นเล็กน้อยแต่คงรูปแบบไว้เหมือนเดิม และเปลี่ยนแบรนด์ใหม่เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่ของปลอม) อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

สำหรับประชาชนในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ผู้คนนิยมใช้สินค้าแฟชั่นราคาสูง อาทิ สินค้าแบรนด์เนมทั้งหลาย เพราะนอกจากคัตติ้งที่ละเอียดลออ การออกแบบที่ทันสมัย ความใส่ใจในเนื้อผ้าและรายละเอียดของลูกเล่นแล้ว ผู้คนยังเคารพแบรนด์ที่สวมใส่ นั่นคือกุญแจดอกสำคัญของการสร้างแบรนด์ไม่ว่าในธุรกิจใดก็ตาม

หากย้อนไปหาต้นกำเนิดของแฟชั่น แฟชั่นเกิดขึ้นครั้งแรกจากการที่ Worth นักออกแบบเสื้อออกแบบเสื้อให้กับจักพรรดินี Eugénie พระมเหสีของจักรพรรดิ Napoleon lll แห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นี่กระมังคือที่มาของคำว่าปารีส...เมืองแฟชั่น

ในยุคแรกๆ ผู้ที่สร้างแฟชั่นนั้นทำขึ้นเพื่อตอบสนองความสวยงาม แต่เมื่อแฟชั่นผ่านกระบวนการผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความรื่นรมย์ในสังคมระบบทุนนิยม (ซึ่งมาพร้อมกับกระแสบริโภคนิยม) เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายตามแฟชั่นนั่นก็คือ ‘สินค้าเริงรมย์’

ยิ่งไปกว่านั้น แท้จริงแล้วแฟชั่นคือกระบวนการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง โดยมีผู้ส่งสารอันได้แก่ ดีไซเนอร์ ผู้ตัดเย็บ ผู้จำหน่าย รวมไปถึงเสื้อผ้าสุดเลิศ กระเป๋าแสนหรู รองเท้าคู่งาม ฯลฯ สารพัดสินค้า ผ่านช่องทางการสื่อสารเริ่มตั้งแต่ นางแบบที่สวมใส่เสื้อผ้า เวทีเดินแบบ หนังสือ นิตยสารที่มีคอลัมน์หรือรูปภาพเกี่ยวกับแฟชั่น รวมไปถึงการตกแต่งหน้าร้าน การจัดวางเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในห้างสรรพสินค้า โดยแฝงแมสเสจลงในรายละเอียดที่บรรจุอยู่ในแฟชั่น อาทิ การใช้สีของเสื้อผ้าในแต่ละฤดูกาลลวดลายการปัก ลูกเล่นที่ใช้กับเสื้อผ้าของแต่ละคอลเล็กชั่น โดยเนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมดจะถูกส่งไปยังผู้ที่รับสารผ่านทางสื่อต่างๆ หรืออาจจะบังเอิญพบเห็นแฟชั่นนั้นจากห้างช็อปต่างๆ แมสเสจดังกล่าวมีผลก็ต่อเมื่อมีคนมองเห็น
แต่จะมีใครเคยคิดไหมว่าการที่แต่ละบุคคลแต่งตัวตามแฟชั่นนั้นสื่อนัยยะอะไรบ้าง

บางคนใส่เพื่อเป็นความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ การได้แต่งตัวออกจากบ้านสามารถทำให้สดชื่น สบายใจ พวกเขาสรรหาคำเรียกตัวเองว่า ‘แฟชั่นนิสต้า’ ซึ่งแปลว่าผู้คลั่งไคล้การแต่งตัว

บางคนก็ใช้แฟชั่นเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้อื่น สาวใดที่สวมชุดแซกสั้นทำจากผ้าไหมพลาสติกสีแดงเข้มแบบไวน์บอร์โดซ์ เว้าร่องอกลึกเล็กน้อยของดอลเช แอนด์ กับบานา สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้สาวนั้นดูสวยเซ็กซี่ หรือแต่การเกล้าผมรวบตึง แต่งหน้าเฉดเอิร์ธโทน สวมเดรสสีเชสต์นัตของแอร์แมส ถือกระเป๋าแบรนด์หลุยส์ วิตตองก็ดูเรียบหรู ดึงดูดความสนใจไปอีกแบบ

บางคนใช้แฟชั่นเพื่อปกป้องอำพรางความละอาย อาทิ คนเจ้าเนื้อใช้แฟชั่นเสื้อผ้าสีดำช่วยพรางรูปร่างให้ดูเพรียวขึ้น

และอีกหลายคนก็ใช้เพื่อเป็นการบอกสถานะและคุณค่าทางสังคม แน่นอนว่าถ้าใครสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์ดังคอลเลกชั่นล่าสุดเดินเล่นที่ห้างหรูหรือไปแฮงก์เอาต์ในชิกบาร์ คุณไม่สามารถบอกคนอื่นได้ว่าไม่มีอันจะกิน (เขาจะว่าคุณโกหกได้) การสวมเสื้อผ้าราคาแพงนั้นนอกจากจะบอกรสนิยมของผู้สวมใส่ ยังเป็นเครื่องบ่งชี้สถานภาพทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การแต่งกายในนานาความหมายดังกล่าวจึงมีความสัมพันธ์แนบแน่นในชีวิตประจำวัน และเมื่อสั่งสมเป็นระยะเวลานาน แฟชั่นจะมีอำนาจในฐานะเครื่องมือบ่งบอกความทันสมัย เมื่ออำนาจมีพละกำลังมากขึ้นจากการยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ ความหมายของคำว่า ‘แฟชั่น’ ก็จะกลายเป็นอุดมการณ์ทางความคิดของคนในสังคม

ถ้าไม่เชื่อลองหยิบกางเกงขาสั้นเอวสูงและบาร์คล้องคอของลา เพอร์ลา คอลเล็กชันสปริง-ซัมเมอร์ 2007 ใส่ดูสิ แต่ถ้าอยู่เมืองไทยกลัวใครจะว่าโป๊ สวมแจ๊กเก็ตเท่ๆ ของอาร์มานีทับ ที่สำคัญอย่าลืมสวมรองเท้าส้นสูงปรี๊ดของจิมมี่ ชู ใส่งานปาร์ตี้สิอย่างไรเสียต่อให้คุณมีรูปร่างท้วมนิดหน่อย ไม่เพรียวลมเหมือนนางแบบ ใครๆ ก็ต้องบอกว่าคุณเป็นคนเก๋และเป็นสาวแฟชั่นนิสต้าตัวจริง

แต่จะมีสักกี่คนที่สวมใส่ตามเทรนด์ได้ดั่งใจ ซึ่งไม่กี่คนนั้นก็คือยอดปิรามิดของคนในสังคม ถ้ามองในมุมกลับ ‘แฟชั่น’ นี่แหละที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของคนในสังคมเรื่องความไม่เท่าเทียมกันได้อย่างชัดเจนที่สุด

ด้วยเหตุที่แฟชั่นคือภาพลักษณ์ทางสถานะ บทบาทและตำแหน่งทางสังคมของผู้สวมใส่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น