วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เปลือยนู้ด

Volume
Rewind ก.พ.แรก 50
เรื่อง นงนภัส

เปลือยนู้ด

กามารมณ์เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และต้องยอมรับว่าภาพนู้ด คือหนึ่งในกลไกการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

เนื่องจากนู้ดคือภาพนิ่งที่มีภาษาภาพชัดเจนในเรื่องการเร้าอารมณ์ให้เกิดความกำหนัดและความต้องการทางเพศ ประเทศไทยเริ่มมีการถ่ายนู้ดครั้งแรกเมื่อปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2450) โดยช่างภาพนู้ดคนแรกๆ คือ เจอันโต นีโอ และโรเบิร์ต เลน งานในยุคแรกคือนู้ดในโปสการ์ด

คนไทยรุ่นแรกที่จับงานถ่ายภาพนู้ดเป็นนักเรียนนอกที่มีแนวคิดสมัยใหม่--หลวงวิลาสปริวัติ หรือครูเหลี่ยม ได้ออกหนังสือชื่อสำราญวิทยา พิมพ์ครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 2450-2452 อีกทั้งครูเหลี่ยมยังเป็นนักเขียนอีโรติกในยุคแรกของไทย

หนังสือแนวอีโรติกที่เก่าแก่ที่สุดของไทยคือ พระตำรับโยนี ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2450 จำนวน 200 เล่ม ผลจากกระแสทุนนิยมตะวันตกทำให้ภาพนู้ดได้รับการตีพิมพ์มากขึ้นและมากขึ้น จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2500 กระแสนู้ดเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อสุราไทยยี่ห้อหนึ่ง ได้จัดพิมพ์ปฏิทินเพื่อแจกลูกค้า ผลคือปฏิทินแม่โขงฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง สร้างความฮือฮาให้กับสังคมเป็นอย่างมาก เท่าที่ทราบมาปฏิทินแม่โขงได้ยุติบทบาทตัวเองลงเมื่อปี 2542 อันเนื่องมาจากพิษเศรษฐกิจ มิเช่นนั้นต้นปีที่ผ่านมาคงมีกระแสนู้ดแม่โขงให้ประชาชนตื่นเต้นไม่น้อย

กระนั้นภาพนู้ดก็ได้รับการยอมรับว่าแรงจริง กับการปรากฏตัวของนิตยสารหนุ่มสาวและนิตยสารแมน ในช่วงปี 2520-2530 นับว่าหนังสือสองเล่มนี้เป็นผู้นำกระแสนู้ดในช่วงนั้น อีกทั้งยังเป็นชนวนให้เกิดหนังสืออื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็น นิตยสาร M, Formen, Penthouse หรือแม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์อื่นก็แฝง ‘นู้ด’ ไว้แทบทั้งสิ้น ทั้งรูปภาพแฟชั่น บทความ และเรื่องสั้น ฯลฯ

ตั้งแต่สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องโป๊ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมา บทบาทนี้ถูกวิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นไปในทางลบ อันเนื่องมาจากเรื่องทางเพศเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคมไทย เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่กระนั้นแรงสนับสนุนจากสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ก็ยังคงมีผู้ซื้อ ซึ่งเป็นพลังเงียบคอยอุดหนุนผู้จัดทำด้วยดีตลอดมา แม้คนในสังคมจะยอมรับว่าไม่เหมาะสม แต่ปริมาณยอดขายนั้นเป็นตัวบอกว่ายังมีความต้องการอยู่มาก แบบนี้แหละที่เขาเรียกว่าปากไม่ตรงกับใจ หรือสังคมไทยเป็นพวกปากว่าตาขยิบ

การนำเสนอภาพนู้ดของสื่อมวลชนมักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างสม่ำเสมอว่าเป็น ‘ศิลปะ’ หรือ ‘อนาจาร’ แม้บางสื่อจะเสนอนู้ดอย่างไม่โจ่งแจ้ง ปิดโน่นนิด เปิดนั่นหน่อย ไม่สามารถเห็นอวัยวะเซ็กซี่อย่างหน้าอก บั้นท้าย และโยนี ได้ทั้งหมด มีผลให้เปลี่ยนการเรียกจาก ‘ภาพนู้ด’ มาเป็น ‘ภาพเซ็กซี่’
ในเมื่อนู้ดคือภาพเปลือยกายล่อนจ้อน ดั้งนั้น เมื่อไม่เปลือยจนหมดเปลือก ก็ไม่ถือว่าเป็นนู้ด

ย้อนหลังไปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว กระแสการต่อต้านภาพดาราถ่ายหวิวค่อนข้างรุนแรง บางรายถูกต้นสังกัดสั่งระงับงาน และห้ามออกสื่อต่างๆ เพราะถือว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับเยาวชน แต่เม็ดเงินจำนวนมากที่จ้างให้นางแบบเปลื้องผ้านั้นช่างล่อตาล่อใจ จึงทำให้ดารา-นางแบบหลายคน อาทิ อังคณา ทิมดี, โยโกะ ทาคาโน่, วีนัส มีวรรณ สุกัญญา มิเกล ฯลฯ ยกขบวนประชันโฉมความเซ็กซี่กันอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะเมื่อลูกเกด-เมทนี กิ่งโพยม และเฮเลน-ปทุมรัตน์ วรมาลี ออกมาถ่ายภาพเซ็กซี่ ก็ยิ่งทำให้กระแสเซ็กซี่บังเกิดขึ้นโดยชอบธรรมในหมู่ดารา-นางแบบในที่สุด

นอกจากนี้เพื่อลดกระแสการต่อต้านจากสังคม ผู้ผลิตภาพยังคิดค้นกระบวนการสร้างความยอมรับจากมวลชลต่างๆ นานา อาทิ จ้างผู้มีชื่อเสียงทางศิลปะมาจัดท่าทางการแสดงแบบ หรือสรรหาบุคคลมีชื่อเสียงมาเป็นแบบ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง อีกนัยหนึ่งก็คือการทำให้สังคมยอมรับเรื่องเพศมากขึ้น

ทั้งนี้ การเรียนรู้เรื่องเพศเป็นสิ่งจำเป็น การนำเสนอภาพนู้ดต่อสาธารณชนก็ควรเสนออย่างสมเหตุสมผล ถูกกาลเทศะ และไม่ควรละเลยแง่มุมความงามทางศิลปะ

มิเช่นนั้นภาพนู้ดที่เคยถือเป็นความงามทางศิลปะแขนงหนึ่ง จะถูกลดค่าเหลือเพียงผลผลิตความดิบเถื่อนเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น