วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

ชามสังกะสี บทที่ 2

บทที่สอง ผสมผสาน

เนื้อที่ไร่นาชาวบ้านรอบบริเวณวัด ปลูกข้าวแซมด้วยผักแปลงยาวลิบตา มะเขือเทศเปราะหอมเลาะลำคลอง แตงกวาออกลูกอ่อนระเรี่ยดิน

ฉันพยายามแต่งคำกลอนให้สละสลวย แต่อย่างไรฉันก็แต่งได้ไม่ดี นั่นเพราะคงไม่ถนัดจริงๆ นั่นแหละ

เช้านี้แม่ชีกล้วยตำหนิฉันชุดใหญ่ เพิ่มเป๊ปซี่ ในความผิดฐานลัดแถวอาหารเช้า ฉันยกคำพูดของแม่ชีกล้วยมาเล่าให้ฟังดังนี้

"อยู่วัดมาหลายปี สิ่งที่ควรเรียนรู้ไว้มากๆ คือ 'กฎ' และ 'ความรอบคอบ' สองสิ่งนี้จะทำให้หนูเป็นคนดี เป็นมนุษย์ มีวินัยและเคารพผู้อื่น การลัดแถวผู้อื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แม้กฎเกณฑ์ของวัดไม่ปรากฎอย่างชัดแจ้ง แต่เป็นเรื่องที่หนูควรเรียนรู้ได้ด้วยสำนึกที่ดี สำนึกที่ดีคือมีความตั้งใจทำสิ่งที่ดี เป็นการเคารพตัวเองและผู้อื่น หนูจะภาคภูมิใจในการกระทำดี และคนอื่นจะภาคภูมิใจในตัวหนู และสิ่งดีๆ จะติดตัวตลอดไป เพราะฉะนั้น คราวหน้าคราวหลัง จงอย่าลัดแถวอาหารของผู้เฒ่ารู้ไหม"แม่ชีกล้วยกล่าวด้วยสีหน้าเจือความสุข แม้ว่าท่านกำลังดุฉันก็ตาม

ฉันถึงกับหน้าซีดเป็นไก่ต้มที่สุกมากๆ ไม่ใช่เพราะความกลัวแม่ชีกล้วย แต่เพราะความรู้สึกผิดที่ไม่ยับยั้งชั่งใจ เพียงแค่เกรงว่า บรรดาแม่เฒ่าแม่แก่จะแย่งผักที่ฉันเล็งไว้หมดน่ะซี่ เรื่องเห็นแก่กินผัก ฉันขึ้นแท่นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะเช้านี้แท้ๆ ที่ฉันติดตามหลวงพ่อเดินบิณฑบาต จึงขาดคนช่วยจัดผัก หน้าที่สำคัญแท้ๆ

งานจัดผักเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ 'กฏ' และ 'ความรอบคอบ'อื่นๆ เพราะงานจัดผักเป็นต้องใช้หลักการนี้เหมือนกัน ฉันถือเป็นต้นตอหัวคิดนี้เชียว แต่ก็ไม่กล้าออกกฎระเบียบให้แม่ชีท่านอื่นใช้ นั่นเพราะขัดกับ 'กฎว่าด้วยความอาวุโส' ที่ฉันมีติดตัวน้อยนิดนั่นเอง จึงได้แต่สรรใช้กฎนี้แต่เพียงผู้เดียว

กฎที่ว่ามีดังนี้
ข้อแรก เช็ดถาดให้สะอาดด้วยความรอบคอบ
ข้อสอง เก็บผักจิ้มน้ำพริกในตอนเช้าเท่านั้น ไม่เก็บทิ้งไว้ข้ามคืน เพราะผักจะไม่สด เผลอๆ อาจพบสัตว์เล็ก-พาหะนำโรคที่ไม่ได้รับเชิญแทะเล็ม
ข้อสาม ถ้าแม่ชีผู้ใหญ่ลงมาจัดผัก ให้ท่านเลือกผักจัดก่อน ส่วนฉันจะจัดผักที่เหลือ
ข้อสี่ ล้างผักด้วยด่างทับทิมเพื่อความสะอาดและคงความกรอบไว้ เพราะฉันสังเกตเห็นว่า ผักที่ชาวบ้านนำมาถวาย ส่วนมากเกษตกรจะใช้ยาฆ่าแมลงอย่างเยอะ ดูจากร่องรอยผิวผักที่นวลเกินกว่าเหตุ
ข้อห้า จัดเรียงผักให้เป็นระเบียบสวยงาม ในเมื่อมนุษย์ยังต้องมีระเบียบ ผักก็ต้องการเช่นกัน เพราะมันคือการกระทำที่บ่งบอกว่าเป็นคนที่ประณีต มนุษย์ต่างจากพืชและสัตว์ตรงที่ มีจิตสำนึกที่ดีได้ต่อเมื่อใช้มัน แม้ว่าผลลัพทธ์จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม
ข้อหก คลุมผักด้วยผ้าขาวบางสะอาดเพื่อกันแมลง

ขณะที่กินข้าวเช้าแบบรวมหมู่ พระสงฆ์นั่งบนอาสนะ เสื่อบนพื้นซีเมนต์ปูลาดเรียบร้อย แม่ชีและญาติโยมนั่งเรียงตามลำดับอาวุโส ฉันนึกเมนูอาหารมื้อเพลอย่างฉับพลัน เมื่อเห็นผู้ใจบุญผู้เดินทางมาจากตัวจังหวัดนำปลากระป๋องมาถวายหลวงพ่อมากมาย หลวงพ่อปันไว้ให้ฉันกินยามที่นึกกินเนื้อสัตว์อีกครั้ง ฉันรับไว้เพราะถือว่า เป็นความเมตตาเล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านห่วงใยเด็กสาวแว่นตาสีแดง***ผู้ผอมกะหร่องเหมือนเสาไฟฟ้าเดินได้คนนี้ จึงตอบแทนความปรารถนาดีด้วยการลุยครัว ตำน้ำพริกปลากระป๋องสูตรที่ชาวบ้านละแวกใกล้วัดสอนไว้ ยามที่พวกเขามาช่วยงานในครัววัด พร้อมกับจัดผักจานใหญ่ด้วยเจตนาที่ดีและมีความรอบคอบ เพื่อหลวงพ่อและหลวงพี่รูปอื่น

น้ำพริกปลากระป๋อง

ส่วนผสม
ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ 2 กระป๋อง
หอมแดงเผา 7 หัว
กระเทียมเผา 2 หัว
พริกสดสีแดงเผา 5 เม็ด
พริกชี้ฟ้าสีเหลืองเผา 10 เม็ด
ถั่วักยาวนึ่งหรือต้ม 6 ฝักสวยๆ
เม็ดมะเขือเหลือง 3 ช้อนโต๊ะ
มะนาวหน้าแล้ง 1 ลูกใหญ่
เกลือนิดหน่อย
พริกป่นใส่หรือไม่ใส่ก็ได้

วิธีทำ

1. ด้วยความเป็นอยู่อย่างง่ายของหลวงพ่อ ทำให้ฉันลงมือทำสูตรอาหารสูตรง่ายๆ ถวายสม่ำเสมอ แทนที่จะทำอะไรยากๆ ประดิดประดอยเป็นเวลานาน อย่างว่าของง่ายใช่จะไม่ประณีต ก็บอกแล้วไงว่า ทำอะไรก็ตามก็ต้องมี 'ความรอบคอบ' เป็นหลักการพื้นฐานเสมอ
2. ฉันขออนุญาตแม่ชีผู้ดูแลครัว ใช้ครก ใช้เตาและเครื่องปรุงบางส่วน ฉันหยิบใช้อย่างคล่องมือ หลังจากที่ท่านตอบรับ
3. นำถั่วฝักยาวไปนึ่งหรือลวกในน้ำเดือดปุดๆ ให้สุดเนื้อนิ่ม
4. ปิ้งหอมแดง กระเทียม พริกสดสีแดง พริกชี้ฟ้าสีเหลือง ให้เหลืองเกรียม ส่งกลิ่นหอมๆ ปิ้งด้วยความตั้งใจว่า ฉันจะปิ้งให้ดีที่สุด
5. ฝานเปลือกมะเขือเหลือง เลือกใช้เฉพาะเมล็ด ฝานสักสามลูก ใส่ถ้วยพักไว้กอ่น
6. เมื่อหอมแดงและพริกสุกได้ที่ ก็นำมาปอกเปลือก ไม่ต้องปอกให้เกลี้ยงเกลาก็ได้
7. ใส่เกลือลงไปสักหยิบมือ เพราะปลากระป๋องที่ชาวบ้านถวายปรุงรสออกรสอ่อนๆ แล้ว โขลกเกลือพร้อมด้วยกระเทียม พริกทั้งสองสีและหอมย่างอย่างหยาบๆ
8. จากนั้นใส่ปลากระป๋องลงครก ใช้ทั้งเนื้อปลาและน้ำซอสมะเขือเทศ บี้ให้พอแหลก โรยด้วยเม็ดมะเขือเหลือง เพื่อเนื้อสัมผัสและรสอร่อยจากเม็ดมะเขือ
9. ฝานถั่วฝักยาวนึ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ลงในน้ำพริก ถั่วฝักยาวที่ฉันปลูกไว้ในแปลงผัก ร่วมกับแม่ชีและคนสวนที่เจ้าอาวาสจ้างไว้ คราวหลังฉันจะพาคุณไปเยี่ยมชม
10. ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว (สำหรับคนชอบรสจัด ฉันอนุญาตให้ใส่พริกป่นได้จ้ะ ไม่ห้าม)
11. ฉันแอบใส่เกลือเพิ่ม อาหารจะอร่อยก็เพราะรสมือนี่แหละ
12. อย่าลืมเก็บอุปกรณ์ล้างให้สะอาด เมื่อแห้งแล้วก็เก็บไว้ที่เดิม

การจัดจาน

เตรียมชามสังกะสีไว้ (ล้างไว้-ผึ่งลมไว้) เป็นอย่างดี เทน้ำพริกใส่ชาม งานนี้มีลูกสมุนสังกะสีรายอื่นคือ ถาดสังกะสีที่จัดเรียงถั่วฝักยาวหั่นเป็นท่อนๆ ใบอ่อมแซ่บล้างสะอาด มะเขือเปราะหรือเปราะหอมฝานขั้ว หรือจะแกะสลักเป็นรูปดอกไม้ก็ได้จ้ะ ไม่ว่ากัน แตงกวาปอเปลือกเฉือนพอคำ

ฉันเจียดน้ำพริกใส่ชามสังกะสีไว้สักน้อย โรยบนข้าว ตั้งใจกินแกล้มแตงกวา หลังจากนั้น ฉันจะได้มีแรงทำงานและเก็บพลังไว้ปฏิบัติภาวนาที่ถือเป็นหน้าที่หลักของชาววัด ฉันมีความตั้งใจว่า ฝึกอานาปานสติสี่ชั่วโมงต่อหนึ่งวันเป็นอย่างน้อย ถ้ามีงานแรงงานก็อาจลดชั่วโมง ถ้าไม่มีงานออกแรงก็เพิ่มชั่วโมงภาวนา

พลบค่ำ ฉันนั่งหน้าสลอน อยู่หลังแถวแม่ชี ท่านเจ้าอาวาสก็เทศนาว่าด้วยเรื่องกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก คำสอนโดนใจฉันอย่างจัง จึงนำมาเล่าสู่กันฟังว่า

"การที่คนเรากินน้อย ใช้น้อย อยู่อย่างเรียบง่าย บ้านไม่มีวิทยุ อยู่ในที่ไกลจากเสียงรบกวน การอยู่ในสถานที่วิเวก ยิ่งเอื้อต่อสมาธิทางจิตมากขึ้น ถ้าถึงขั้นสุดท้าย อุปธิวิเวก ไม่มีกิเลสมาทำให้ขุ่นมัว โกรธหรือเร่าร้อน ก็เป็นความสุขที่เรียกว่า ความสุขที่เกิดจากการสงัดจากกิเลส

"รสชาติอร่อย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่พอใจ เรียกว่า กามคุณห้า มันมีโทษแฝงอยู่ มีคุณคือให้ความสุข กามคุณห้ามีโทษมากกว่าคุณ ใหม่ๆ ก็ดึงเราไปอยู่กับรสอร่อยของมัน โทษนั้นคือความไม่เที่ยง ของอร่อย ของดี มันก็ไม่อยู่กับเราได้นาน ดอกไม้ในที่สุดก็ร่วงโรยไป ก็พรากจากเรา เพราะมันเป็นของธรรมชาติ ไม่ใช่ของเรา หรือแม้จะไม่มีคนเอาไป แต่อยู่ๆ บางทีเราก็เบื่อ อาหารที่อร่อย อยู่ไปกินไปทั้งเช้า-เย็นๆ ก็เบื่อ เพราะวัตถุนี่แหละที่ทำให้เราเบื่อง่าย แต่ความทุกข์จริง ไม่ได้อยู่ที่ตัววัตถุกาม อยู่ที่ตัวเรามากกว่า ใจที่เราเห็นว่า สิ่งนี้น่าพอใจ จึงเกิดเป็นอุปาทานขึ้นมา"

ฉันเห็นด้วยกับท่านเจ้าอาวาสเป็นอย่างยิ่งว่า อาหารอร่อยให้คุณไม่นาน ไม่เที่ยง ย่อยแล้วก็ถ่ายออก เหลือเพียงแต่ประสบการณ์ที่เก็บไว้ในแว่นตาของเรา ฉันล่ะทั้งรักและเจ็บใจแม่จริงๆ ที่สอนให้รู้จักอาหารอร่อยๆ ตั้งแต่อ้อนแต่ออก มันทำให้ฉันฝืนแรงโน้มใจที่รับอิทธิพลมาจากอาหารถูกปากอย่างยากลำบาก และขอบคุณหลวงพ่อที่พร่ำสอนวิธีทำจิตให้ว่าง ไม่ซ้าย ไม่ขวา ไม่คิดบวก ไม่คิดลบ ไม่อะไรกับอะไร

***เชื่อมโยงกับทฤษฎีแว่นตาสีแดงหรือโครงสร้างของจิตทำให้เรารับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบผัสสะของเราว่า เป็นสิ่งที่อยู่ในพื้นที่ (space) และเวลา (time) ส่วนในความเป็นจริง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะอยู่ในพื้นที่และเวลาหรือไม่นั้น เราไม่มีทางรู้ได้เลย นอกจากนี้โครงสร้างของจิตยังให้มโนทัศน์ต่างๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจประสบการณ์ของเรา เช่นมโนทัศน์เรื่องสาเหตุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น